แท้งคุกคาม คืออะไร? อาการแบบไหนบ่งบอกว่าคุณกำลังเสี่ยง!

by BabyAndMomThai.com

แท้งคุกคาม คืออะไร อาการแบบไหนบ่งบอกว่าคุณกำลังเสี่ยง   

คงไม่มีคุณแม่ตั้งครรภ์คนไหนอยากตกอยู่ในสภาวะแท้งบุตร ยิ่งคุณแม่ที่เคยแท้งมาก่อนแล้ว ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะแท้งคุกคามได้มากขึ้น ดังนั้นมาลองสังเกตกันดูว่า อาการแบบไหนที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดการแท้งคุกคามได้บ้าง

แท้งคุกคามคืออะไร

แท้งคุกคาม คือ อาการที่มีเลือดออกทางช่องคลอด และอาจมีอาการปวดท้องด้วย โดยมักเกิดขึ้นขณะที่มีอายุครรภ์ไม่ถึง 20 สัปดาห์ ส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะแท้งบุตรในเวลาต่อมา

สาเหตุของการแท้งคุกคาม

มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแท้งคุกคาม ดังต่อไปนี้

  1. คุณแม่มีอายุมาก ซึ่งจะมีโอกาสแท้งคุกคามสูง โดยเฉพาะช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป
  2. ความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อน ทำให้เกิดการแท้งได้
  3. ความผิดปกติของมดลูก เช่น มีผังพืด ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวในรกได้อย่างปกติ
  4. ขาดฮอร์โมนเพศที่ช่วยประคองการตั้งครรภ์ จึงทำให้เยื่อบุมดลูกบาง ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้
  5. คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์ ไต เป็นต้น
  6. มีการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด หัดเยอรมัน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ภายนอก เช่น สิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งผลให้คุณแม่เกิดอาการเครียด จนทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ค่อยได้คุณภาพ เช่น มีรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ยาบางประเภท เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งส่งผลทำให้ตัวอ่อนและการฝังตัวของตัวอ่อนผิดปกติ จนทำให้เกิดการแท้งคุกคามตามมาได้

อาการบ่งบอกว่ากำลังเสี่ยงภาวะแท้งคุกคาม

เมื่อคุณแม่พบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าอยู่ในภาวะแท้งคุกคาม จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  1. เลือดออกทางช่องคลอด โดยสีของเลือดมักมีสีแดงสด ซึ่งเกิดจากรกลอกตัวก่อนกำหนด
  2. ปวดท้องน้อย โดยอาจปวดแป๊ปๆ หรือรู้สึกปวดท้องน้อยแบบบีบๆ คล้ายช่วงมีประจำเดือน และรู้สึกปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับมีเนื้อเยื่อหรือลิ่มเลือดหลุดออกมาทางช่องคลอดด้วยหรือไม่ก็ได้
  3. ตกขาวมีสีน้ำตาล ซึ่งเกิดจากมีเลือดปนออกมา

การรักษาภาวะแท้งคุกคาม

การรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะแท้งคุกคามนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว คือรักษาด้วยวิธีการประคับประคอง ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้พักผ่อนมากๆ หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก เพื่อลดการกระทบกระเทือนทารกในครรภ์ นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ยากันแท้ หรือยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ในผู้ป่วยบางรายอีกด้วย

การดูแลตนเองเมื่อเกิดภาวะแท้งคุกคาม

เมื่อรู้ว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะแท้งคุกคาม ควรปฎิบัติตนดังต่อไปนี้

  1. นอนพักมากๆ ไม่ทำงานหนักหรือยกของหนัก
  2. ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
  3. ทานอาหารที่มีประโยชน์ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
  4. งดการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะช่วงมีเลือดหรือตกขาวออกอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  5. หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ ทั้งปริมาณเลือดที่ควรน้อยลงจนหมด สีของเลือด รวมถึงอาการปวดท้องว่าดีขึ้นไหม

ภาวะแท้งคุกคาม ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ดังนั้นเพื่อให้ 9 เดือนแห่งการตั้งครรภ์ไม่มีปัญหา คุณแม่จึงต้องใส่ใจดูแลสุขภาพ และหมั่นสังเกตความผิดปกติให้มากขึ้น ก็จะช่วยลดโอการเสี่ยงที่จะสูญเสียบุตรได้

 














 

You may also like

กด LIKE เป็นกำลังจัยให้หน่อยนะคะ ขอบคุณมากๆค่ะ-Facebook-FanPage