เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะแทรกซ้อน ที่ไม่ควรมองข้าม 

by BabyAndMomThai.com

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะแทรกซ้อน ที่ไม่ควรมองข้าม    

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อีกหนึ่งโรคที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่ควรมองข้าม เพราะส่งกระทบทั้งต่อตัวคุณแม่ และลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ วันนี้เราจึงจะพาคุณมาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั่นเอง

โรคเบาหวาน คืออะไร

โรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ คือโรคที่เกิดจากการมีน้ำตาลในเลือดสูง โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งปกติแล้วอินซูลินที่ถูกผลิตจากตับอ่อนจะมีหน้าที่ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญกลูโคลสได้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อร่างกายมีภาวะต่อต้านอินซูลิน จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น

  1. คนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  2. มีน้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐาน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย BMI เกิน 30 ขึ้นไป
  3. มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป
  4. เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์
  5. เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิด ตั้งแต่ 4,000 กรัมขึ้นไป
  6. เคยคลอดบุตรพิการหรือเสียชีวิต โดยไม่ทราบสาเหตุ

ผลกระทบของโรคเบาหวาน ต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์

ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้

  1. ครรภ์เป็นพิษ เนื่องจากมีความดันโลหิตสูงขึ้น จึงทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
  2. มีน้ำคร่ำมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้ต้องทำการคลอดก่อนกำหนดด้วยเช่นกัน
  3. เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หลังคลอด โดยอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น เบาหวานขึ้นตา โรคหัวใจ และโรคไต

ผลของโรคเบาหวาน ต่อลูกน้อยในครรภ์

นอกจากผลกระทบต่อแม่แล้ว ทารกในครรภ์ยังมีโอกาสเสี่ยงต่ออันตรายดังต่อไปนี้

  1. แท้งหรือคลอดก่อนกำหนด
  2. ทารกตัวโตทำให้คลอดยาก
  3. เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ทารกมีหัวใจโต ตัวเหลือง มีระดับน้ำตาลต่ำในระยะแรกคลอด
  4. มีโอกาสเป็นโรคอ้วน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต

การดูแลรักษา เมื่อเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เมื่อแพทย์ได้ทำการเจาะเลือด เพื่อหาระดับน้ำตาลในเลือดแล้วพบว่าเป็นเบาหวาน จะแนะนำให้คุณแม่ดูแลตัวเองดังนี้

  1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยการทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่นผัก ผลไม้ ธัญพืชที่มีน้ำตาลน้อยและแคลอรี่ต่ำ
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และช่วยลดภาวะการดื้ออินซูลินได้
  3. ใช้เครื่องตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ เป็นประจำ
  4. ในกรณีควบคุมอาหารแล้วไม่ได้ผล อาจต้องทานยาหรือฉีดอินซูลินตามแพทย์สั่ง

เมื่อตั้งครรภ์แล้ว ก็คงไม่มีใครอยากเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้น ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ การใส่ใจเรื่องอาหารการกินเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้คุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรงนั่นเอง

 

 














 

You may also like

กด LIKE เป็นกำลังจัยให้หน่อยนะคะ ขอบคุณมากๆค่ะ-Facebook-FanPage