ลูกสำลักนม อันตรายไหม และวิธีป้องกัน
แค่สำลักนมฟังดูไม่น่าจะเป็นอะไร แต่กับเด็กเล็กๆ นั้น คุณแม่รู้ไหมว่าถ้าลูกสำลักนมอาจส่งผลถึงกับชีวิตของลูกน้อยได้ ดังนั้นมาดูกันสิว่าเมื่อลูกสำลักนมเราควรทำอย่างไร รวมทั้งวิธีการป้องกันด้วย
อันตรายจากการสำลักนม
เมื่อลูกไม่สามารถกลืนนมได้ทัน ทำให้นมที่ล้นอยู่ในปากนั้นไหลลงสู่ระบบทางเดินหายใจ จนนำไปสู่การสำลักนม ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- ในกรณีที่สำลักนมไม่มาก จะทำให้เกิดอาการไอเล็กน้อย เหมือนต้องการขย้อนนมส่วนเกินออกมา
- ไอรุนแรง เมื่อสำลักมากขึ้น
- หายใจผิดปกติ มีเสียงครืดคราด
- ตัวเขียว ปากเขียว เนื่องจากมีการอุดตันของหลอดลม จนอาจทำให้หมดสติ ดังนั้นควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพราะถ้าปล่อยไว้อาจทำให้เสียชีวิต หรือเด็กสมองพิการได้
ทำอย่างไรเมื่อลูกสำลักนม
คุณแม่ควรศึกษาวิธีการช่วยเหลือลูกน้อยเอาไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ลูกสำลักนม ซึ่งเรามีคำแนะนำดังต่อไปนี้
1.เมื่อเด็กยังไอ และหายใจได้ปกติ
ให้คุณแม่ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยห้ามอุ้มเด็กขี้นทันทีเมื่อเด็กแสดงท่าสำลักนม แต่ให้จับเด็กนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยให้ศีรษะต่ำกว่าลำตัว เพื่อไม่ให้นมค้างอยู่ที่ปากและคอ รวมทั้งป้องกันนมไหลลงสู่ปอด
2.เมื่อเด็กรู้สึกตัว แต่ไม่หายใจ
คุณแม่สามารถสังเกตได้ว่าเด็กร้องไห้แต่ไม่มีเสียงออกมา เนื่องจากมีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ ให้รีบช่วยชีวิตเด็กทันที ด้วยการจับเด็กนอนคว่ำหน้าลงบนตัก ศีรษะต่ำลง หรือท่า Back blows แล้วเอามือเคาะหลัง 5 ครั้ง แต่ถ้าเด็กยังไม่หายใจอีก ให้จับเด็กนอนหงายศีรษะต่ำ ในท่า Chest thrust แล้วใช้นิ้ว 2 นิ้วกดลงไปแรงๆบริเวณหน้าอก จนกว่าเด็กจะหายใจหรือร้องออกมา
3.เมื่อเด็กหมดสติ และไม่หายใจ
ในกรณีนี้จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีความรู้ด้าน CPR เพื่อช่วยชีวิต และควรนำเด็กไปรพ.ทันที
วิธีการป้องกัน
ถ้าไม่อยากให้ลูกสำลักนม มีวิธีป้องกันดังต่อไปนี้
- เลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว สำหรับลูกวัยแรกเกิดจนถึง 6 เดือน เพื่อรอให้ทักษะการดูดกลืนอาหารของลูกพร้อมเสียก่อน
- ไม่ควรเลือกจุกนมที่มีขนาดใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้นมไหลเร็ว จนลูกสำลักนมได้
- ปรับท่าดูดนมลูก ให้อยู่ในท่า 45 องศา เพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของนม
- ควรจับลูกเรอหลังให้นมทุกครั้ง เพราะจะช่วยป้องกันการสำลักนมได้ และลดอาการแหวะนมได้อีกด้วย
- ไม่ปล่อยให้ลูกดูดนมตามลำพัง
- สังเกตความผิดปกติของลูก เช่น อวัยวะที่ใช้ดูดกลืนมีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อไปพบแพทย์และทำการรักษา